วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่ดิน


 ที่ดินเป็นทรัพย์อันมีค่าที่ทุกคนวงแหน เป็นพื้นฐานของครอบครัวและประเทศชาติเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ สำหรับใช้เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อประโยชน์อื่นๆ ดังนั้นระเบียบการเกี่ยวกับที่ดินจึงมีความละเอียดอ่อนมาก เพื่อให้ประชาชนผู้สุจริตได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับเรื่องที่ดินที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันบางส่วนไว้บ้าง จึงได้รวบรวมข้อควรทราบและทางปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดินซึ่งจะได้กล่าวต่อไปตามลำดับ

                ที่ดิน หมายความว่า พื้นที่ดินทั่วไปและให้หมายความรวมถึงภูเขา ห้วย หนองคลองบึง ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลด้วย (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1)
คำว่าที่ดินมิได้หมายถึงเนื้อดินอันเป็นกรวดทราย โคลน เลน แต่หมายถึงอาณาเขตอันจะพึงวัดได้เป็นส่วนกว้างส่วนยาวอันประจำอยู่แน่นอนบนพื้นผิวโลก เป็นส่วนหนึ่งของผิวพื้นโลกอันมนุษย์จะพึงอาศัย กรวด ทราย หิน ดิน โคลน แร่ธาตุที่อาจจะขุดขึ้นมามิใช่ตัวที่ดิน หากเป็นทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน ที่ดินนั้นจึงเป็นสิ่งไม่อาจทำลายทำให้สูญหาย หรือเคลื่อนย้ายอย่างใดๆ ได้ เว้นแต่จะเปลี่ยนสภาพไปเช่นเปลี่ยนสภาพเป็นทางน้ำสาธารณะ
ประเภทที่ดิน 
1. ที่ดินของเอกชน รวมที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ แต่อาจมีหลักฐานแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3,น.ส.3 ก.) ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้นและรวมถึงที่ดินมีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจองและตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว
2. ที่ดินของรัฐ ได้แก่ที่ดินที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิรวมทั้งที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งมิได้มีผู้ใดครอบครองเป็นเจ้าของ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
                สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่นที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินที่มีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เช่น ทางหลวง ทางน้ำ ทะเลสาบ ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะเช่น ศาลากลางจังหวัด
โรงทหาร
สาธารณสมบัติของแผ่นดินมีคุณสมบัติดังนี้
                1. จะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่มีกฎหมายที่ออกเฉพาะให้โอนกันได้
                2. ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน เช่น ครอบครองทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะกี่ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ
                3. ห้ามยึดทรัพย์ของแผ่นดิน
หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิในที่ดินมีอยู่ 4 อย่าง
                1. โฉนดแผนที่ เป็นหนังสือแสดงกรรมสิทธิในที่ดิน ฉบับแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยออกเมื่อ ร.ศ.120 (พ.ศ. 2445) และ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) ออกโดยมีการรังวัดทำแผนที่ระวาง ป้องกันการเกิดการทับที่ซ้อนที่ ผู้ถือหนังสือนี้มีกรรมสิทธิในที่ดินของตนโดยสมบูรณ์ตลอดไปจนกระทั่งปัจจุบัน
                2. โฉนดตราจรอง เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิในที่ดินออกตาม พระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง ร.ศ.124 ประกาศใช้ในมณฑลพิษณุโลก ที่เป็นจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย และบางส่วนของนครสวรรค์ ในจังหวัดอื่นไม่มีการออกโฉนดตราจองการรังวัดทำแผนที่ไม่มีระวางยึดโยง ทำเป็นแผนที่รูปลอย เป็นแปลงๆ ไป
                 3. ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ออกให้ในกรณีที่บุคคลได้รับอนุญาตให้จับจองเป็นใบเหยียบย่ำมีอายุ 2 ปี หรือผู้ได้รับตราจองที่เป็นใบอนุญาต มีอายุ 3 ปี และได้ทำประโยชน์ในที่ดินภายในกำหนดแล้วมีสิทธิจะได้รับตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว
                4. โฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มี 6 แบบ น.ส.4 , น.ส. 4 ก. ,น.ส. 4 ข., น.ส. 4 ค.,น.ส. 4 ง. (ออกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 15,17 ปัจจุบันไม่ออกแล้ว) น.ส. 4 จ. (ออกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 34) ปัจจุบันโฉนดที่ดินออกตามแบบ น.ส.4 จ.
                การออกโฉนดที่ดิน
                ก. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศเขตเพื่อจะออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58,58 ทวิ)
                ข. การออกโฉนดที่ดิเฉพาะราย (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59)
ที่ดินมือเปล่า 
                คือ ที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 อย่างต่อไปนี้ คือไม่มีโฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจองและตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ที่ดินมือเปล่านั้นอาจจะไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิในที่ดิน แต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย หรือมีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินบางอย่าง เช่น ใบเหยียบย่ำ ตราจองที่เป็นใบอนุญาต ส.ค.1 ใบจองหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือใบไต่สวน
ส.ค.1 
                ส.ค.1 คือ หนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินที่ผู้ครอบครองได้ทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับไปแจ้งการครอบครองต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ว่าตนครอบครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนเท่าใด
นายอำเภอจะออกแบบ ส.ค.1 ให้แจ้งเก็บไว้เป็นหลักฐาน ส.ค.1 มีลักษณะสำคัญแสดงให้ทราบว่ามีเนื้อที่เท่าใดใครเป็นเจ้าของ ตำแหน่งอยู่ที่ใด ที่ดินได้มาอย่างไร มีหลักฐานแห่งการได้มา และสภาพที่ดินเป็นอย่างไร
                ส.ค.1 ที่ผู้แจ้งได้มาไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิที่เคยมีอยู่หรือไม่เคยมีอยู่ของผู้แจ้งต้องเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด คือ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด ไม่ใช่หนังสือรับรองว่าผู้แจ้งเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครอง ความเป็นเจ้าของผู้แจ้ง ผู้แจ้งต้องพิสูจน์เอาเอง
ใบจอง 
                 ใบจองเป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อเป็นการแสดงความยินยอมให้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินเป็นการชั่วคราว ซึ่งใบจองนี้จะออกให้แก่ราษฎรที่ทางราชการได้จัดที่ดินให้ทำกินตามประมวลกฎหมายที่ดิน (ผู้ที่ต้องการจับจองควรคอยฟังข่าวของทางราชการ ซึ่งจะมีประกาศเปิดโอกาสให้จับจองเป็นคราวๆ ในแต่ละท้องที่)

                ผู้มีใบจองจะต้องจัดการทำประโยชน์ในที่ดินที่ราชการจัดให้ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี (การทำประโยชน์ให้แล้วเสร็จ หมายถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินที่จัดให้) และที่ดินที่มีใบจองนี้จะโอนให้แก่คนอื่นไม่ได้ต้องทำประโยชน์ด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อทำประโยชน์เสร็จถึง 75% แล้ว ก็มีสิทธิมาขอออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส. 3 ได้เหมือนกับผู้มี ส.ค.1 มี 2 กรณี คือ
                1. เมื่อทางราชการเดินสำรวจทั้งตำบลเพื่อออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ให้
                2. มาขอออกเองเหมือนกับผู้มี ส.ค.1
หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)

                คือ หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (นายอำเภอ) ว่าผู้ครอบครองที่ดินได้ทำประโยชน์แล้ว มี 2 แบบ คือ แบบ น.ส.3 และ น.ส. 3ก
 แบบ น.ส.3ก ให้ใช้เมื่อมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยวิธีกำหนดตำแหน่งทีดินในระวางรูปถ่ายทางอากาศ
                ที่ดินที่มีมี น.ส.3 นี้ถือว่ามีสิทธิครอบครองคือมีสิทธิยึดถือทรัพย์นั้นไว้เพื่อตน เป็นสิทธิที่มีความสำคัญรองลงมาจากกรรมสิทธิ (แต่ทางพฤตินัยก็ถือว่าเป็นเจ้าของเช่นกัน) นอกจากนี้เวลาจะโอนให้คนอื่น ไม่ว่าจะขายหรือยกให้ หรือจำนองก็สามารถทำได้ แต่ต้องไปจดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ ไม่ใช่สำนักงานที่ดิน
                ที่ดิน น.ส.3 นี้ เป็นที่ดินที่เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง เจ้าของที่ดินมีสิทธินำ น.ส.3 มาขอออกโฉนดที่ดินเพื่อให้ได้
กรรมสิทธิได้ 2 กรณี คือ
                1. เมื่อทางราชการจะออกโฉนดที่ดินให้โอนการเดินสำรวจทั้งตำบล
                2. มาขอออกเองเป็นเฉพาะราย เหมือนผู้มี ส.ค.1 หรือ น.ส.3
ใบไต่สวน (น.ส.5) 
                เป็นหนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน (กฎกระทรวงฉบับที่ 5) ใบไต่สวนจะออกให้ต่อเมื่อบุคคลมารังวัดโฉนดที่ดินจะเป็นการรังวัดเฉพาะแปลง(ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59) หรือรังวัดเป็นท้องที่ (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58) ก่อนออกโฉนดที่ดินพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินเพื่อทำแผนที่ระวาง และสอบสวนสิทธิว่าเป็นที่ดินของใคร มีบิดา มารดาชื่ออะไร มีอายุเท่าไร เนื้อที่ทั้งหมดประมาณเท่าไร มีเขตข้างเคียงแต่ละทิศจดอะไร และมีหลักฐานสำหรับที่ดินอย่างไรบ้าง
ข้อความที่สอบสวนรังวัดมาได้ จะต้องจดไว้ในใบไต่สวนและให้เจ้าของที่ดินลงชื่อรับรอง และเจ้าหน้าที่ผู้ทำการสอบสวนลงชื่อไว้ด้วย
                ใบไต่สวน เป็นพยานเอกสารที่แสดงว่า ผู้มีชื่อในใบไต่สวนนำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงนั้นๆ แล้ว ใบ
ไต่สวนไม่ใช่เอกสารสิทธิ แต่มีประโยชน์สำหรับ ผู้มีชื่อในใบไต่สวนที่ถูกฟ้องคดีหาว่าสละสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้น อาจอ้างใบ
ไต่สวนเป็นพยานเอกสารต่อสู้ได้ว่าตนเองยังมีเจตนายึดถือครอบครองอยู่ มิฉะนั้นคงไม่นำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดออกโฉนดที่ดิน และเป็นเอกสารที่ยืนยันว่ามีที่ดินมีเนื้อที่ประมาณเท่าไร แต่ละทิศจดที่ดินข้างเคียงแปลงใด และเป็นหลักฐานที่แสดงว่าเจ้าของได้ครอบครองตามเขตที่แสดงไว้ในใบไต่สวนแล้ว
ที่ดินมือเปล่าแตกต่างกับทีดินมีโฉนด 
                1. ที่ดินมีโฉนด เจ้าของมีกรรมสิทธิ กล่าวคือ มีสิทธิใช้สอย, จำหน่าย, ได้ดอกผลและติดตามเอาคืน ซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
                ที่ดินมือเปล่า เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองซึ่งเกิดขึ้นจากการยึดถือที่ดินนั้นไว้โดยเจตนายึดถือเพื่อตน
                2. ที่ดินมีโฉนด ถูกครอบครองปรปักษ์ได้กล่าวคือ หากมีบุคคลอื่นเข้ามาครอบครองที่ดินมีโฉนดโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกัน10 ปี บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิแต่ต้องไปขอให้ศาลสั่งว่าได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์และนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนประเภทได้มาโดยการครอบครองต่อเจ้าพนักงานที่ดิน
                ที่ดินมือเปล่า ถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เช่น ที่ดิน ส.ค.1 หรือ น.ส.3 มีคนมาครอบครอง 10 ปี หรือ 20 ปี ผู้ครอบครองก็คงมีแต่สิทธิครอบครอง ดังนั้นผู้มาแย่งการครอบครองที่ดินมือเปล่าจากเจ้าของเดิมเกิน 10 ปี จะต่อสู้ว่าตนได้กรรมสิทธิโดยครอบครองปรปักษ์แล้วไม่ได้แต่ต้องต่อสู้ว่าตนได้สิทธิในที่ดินนั้นแล้วเนื่องจากเจ้าของเดิมถูกแย่งการครอบครองแล้วไม่ฟ้องร้องภายใน 1 ปี
ผู้ครอบครองเดิมย่อมสูญสิ้นในที่ดินของตน(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375)
                - ที่ดินมือเปล่า พนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนคือนายอำเภอหรือผู้ทำการแทนปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอหรือผู้ทำการแทนซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่
                4. ที่ดินมีโฉนด อายุความการทอดทิ้งให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ ที่ดินมีโฉนดทอดทิ้งเกิน 10 ปีติดต่อกัน (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6)
                ที่ดินมือเปล่า หากเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทอดทิ้งเกิน 5 ปี ติดต่อกันที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐ สำหรับที่ดินมือเปล่าประเภทอื่น เช่น ส.ค.1 ใบจอง หากผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินนั้นต่อไป การครอบครองย่อม
สุดสิ้นที่ดินตกเป็นของรัฐทันที
เจ้าของที่ดินมือเปล่าจะสูญสิ้นสิทธิในที่ดินของตนได้โดยประการหนึ่งประการใดดังต่อไปนี้
                1) โดยเจ้าของที่ดินมือเปล่าโอนที่ดินของตนให้ผู้อื่นหากเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์โอนโดยการจดทะเบียนต่อนายอำเภอท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ หากเป็นที่ดิน ส.ค.1 โอนโดยการส่งมอบการครอบครองซึ่งใช้ยันกันได้ระหว่างเอกชนเท่านั้น จะใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378-1380)
                2) โดยการสละเจตนาครอบครอง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377) เช่นเจ้าของที่ดินมือเปล่า สค.1 ทำหนังสือโอนขายกันเอง เป็นการแสดงเจตนาว่าผู้ขายสละเจตนาครอบครองและไม่ยึดถือที่ดินนั้นต่อไป
                4) โดยถูกแย่งการครอบครองแล้วเจ้าของที่ดินมือเปล่าไม่ฟ้องเรียกร้องคืนภายใน 1 ปี ย่อมสูญสิ้นสิทธิในที่ดินของตน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375) การฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองจะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายถือว่าที่ดินมือเปล่าเจ้าของไม่มีกรรมสิทธิ มีแต่เพียงสิทธิครอบครองระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง มิใช่นับตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกแย่งการครอบครอง
                5) โดยถูกเวนคืนให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 5)
                6) โดยเจ้าของละทิ้ง (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6) เช่น ที่ดิน สค.1 ใบจอง หากเจ้าของสละเจตนาครอบครอง การครอบครองย่อมสิ้นสุด ที่ดินตกเป็นของรัฐ
                สำหรับที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์หากทอดทิ้ง 5 ปีติดต่อกัน ที่ดินตกเป็นของรัฐประเภทที่รกร้างว่างเปล่า
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน 
                1. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ เช่นได้มาโดยได้โฉนดแผนที่โฉนด
ตราจอง, หรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว, ได้มาซึ่งที่บ้านที่สวนตามกฎหมายเบ็ดเสร็จ บทที่ 42 ที่ดินประเภทนี้เป็นที่มีกรรมสิทธิแต่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ และไม่ถือว่าเป็นที่ดินมือเปล่า ฎีกาที่ 1570/2500 ที่พิพาซึ่งเจ้าของได้ครอบครองทำที่ดินให้เป็นที่บ้านที่สวนมาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 และพระราชบัญญัติ ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) 2479 แล้วแม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ ก็ต้องนำกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 มาใช้บังคับคดี โดยถืออายุความสละที่ดิน 9 ปี 10 ปี หาใช่อายุความ 1 ปี ไม่
                2. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้มาโดยขอออกโฉนที่ดินตั้งตำบล และได้มาโดยขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย (ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 และ 59)
                3. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินโดยนิติกรรม เช่น โดยการซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้จำนอง, ขายฝาก ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้น เป็นโมฆะ
                4. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินโดยผลของกฎหมาย เช่น
                ก) ได้กรรมสิทธิในที่ดินจากที่งอกริมตลิ่ง ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกนั้นเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น โดยหลักของที่งอกริมตลิ่ง จะต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและติดต่อเป็นผืนเดียวกันแต่เจ้าของที่ดินมีจะมีกรรมสิทธิในที่งอกได้ต้องเป็นที่ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน ถ้าเจ้าของที่ดินแปลงใดเป็นที่มือเปล่าเกิดที่งอกออกมา เจ้าของที่แปลงนั้นก็มีแต่สิทธิครอบครองที่งอกเท่านั้น ดังนั้นหากเป็นงอกออกมาจากที่ดินมีโฉนด เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวมีกรรมสิทธิในที่งอก ผู้อื่นจะแย่งการครอบครองที่ดินส่วนนี้ต้องครองครองปรปักษ์เกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ หากเป็นที่งอกออกมาจากที่ดินมือเปล่า (สค.1 , นส.3)
 เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองหากผู้อื่นแย่งการครอบครองและเจ้าของไม่ฟ้องร้องเรียกคืนภายใน 1 ปี เจ้าของสิ้นสิทธิในที่งอกนั้น
                ข) ได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ” ที่ดินที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้จะต้องเป็นที่ดินของผู้อื่นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ (โฉนดที่ดิน, โฉนดแผนที่, โฉนดตราจองตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้วที่บ้านที่สวนตามกฎหมายเบ็ดเสร็จบทที่ 42) ที่ดินมือเปล่า (ส.ค.1, น.ส.3) จะถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เช่น ก.ครอบครองที่ดินมือเปล่าอย่างเจ้าของมา 10 ปี ก.ก็คงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น
                การได้กรรมสิทธิโดยครอบครองปรปักษ์จะต้องให้ศาลสั่งว่าได้มาโดยครอบครองปรปักษ์แล้วนำคำสั่งศาลไปขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินประเภทได้มาโดยการครอบครองหากเจ้าของได้โดยการครอบครองบางส่วน ก็ไปขอจดทะเบียนในประเภทได้มาโดยการครอบครองเฉพาะส่วนหรือได้รับแบ่งมาโดยการครอบครอง
                ค) การได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน โดยทางมรดก การจะมีกรรมสิทธิในที่ดินมรดกที่ดินมรดกนั้นต้องเป็นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ เช่น โฉนดที่ดินถ้าที่ดินมรดกเป็นที่มือเปล่าเช่นที่ นส.3, สค.1 ก็มีเพียงสิทธิครอบครอง
                ผู้ได้ทรัพย์มาโดยทางมรดกนี้ จะต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเสียก่อนจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ เช่น นาย ก. ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดให้นาย ข. เมื่อนาย ก. ตาย นาย ข. ก็ได้รับมรดกทันทีโดยผลของกฎหมายโดยไม่ต้องจดทะเบียน เนื่องจากพินัยกรรมมีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายหรือหากไม่มีพินัยกรมเมื่อเจ้าของมรดกถึงแก่ความตายมรดกก็ตกไปยังทายาทโดยธรรมทันที แต่ต่อมาหากนาย ข. ต้องการขายที่ดินมรดกให้นาย ค. นาย ข.จะทำไม่ได้เพราะชื่อในโฉนดยังเป็นชื่อนาย ก. เจ้าของเดิมอยู่ นาย ข. จะต้องจดทะเบียน การได้มาประเภทมรดก ลงชื่อนาย ข. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิเสียก่อนจึงจะเอาที่ดินไปจดทะเบียนขายให้นาย ค. ต่อไปได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรค 2 บัญญัติว่า “ถ้าผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้” การได้มาทางมรดกก็เป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเช่นกัน
วิธีการจดทะเบียนการได้มาประเภทมรดก 
                1. ให้ผู้ได้รับมรดกนำหลักฐานสำหรับที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน นส.3 พร้อมด้วยหลักฐานในการรับมรดก เช่น พินัยกรรม มรณบัตร สูติบัตร สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ไปยื่นขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่กับบุคคลอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกมาได้
                2. ให้ผู้ขอรับมรดก ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวในข้อ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
                3. พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐานและหากเชื่อว่าผู้ขอเป็นทายาทก็จะประกาศการขอรับมรดกนั้น 60 วัน แม้เป็นการโอนมรดกตามพินัยกรรมก็ต้องประกาศด้วยเว้นแต่มีการจดทะเบียนตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลก่อนแล้ว และผู้จัดการมรดกโอนต่อให้ทายาทไม่ต้องประกาศ ประกาศนั้นให้ติดไว้ที่อำเภอสำนักงานที่ดิน ที่ทำการกำนัน บริเวณที่ดินแห่งละ 1 ฉบับ ส่งประกาศให้ทายาททุกคนที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็นทายาททราบเท่าที่จะทำได้
                4. ถ้าไม่มีผู้โต้แย้ง ก็ให้จดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ทายาทตามที่ขอ
                5. ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนคู่กรณีแล้วเปรียบเทียบประนีประนอมกันหากไม่ตกลงให้เจ้าหน้าที่สั่งการไปตามที่เห็นสมควรแล้วแจ้งคู่กรณีทราบ ผู้ที่ไม่พอใจให้ไปฟ้องศาลภายใน 60 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง ถ้ามีการฟ้องศาลให้พนักงาน
เจ้าหน้าที่รอเรื่องไว้ก่อน เมื่อศาลพิพากษาจึงดำเนินการตามที่ศาลสั่ง
                ถ้าไม่ฟ้องภายในกำหนดให้ดำเนินการไปตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่ง
                ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนมรดกถ้าเป็นการรับมรดกระหว่างบิดา มารดา บุตร สามี เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 50 สตางค์ของจำนวนทุนทรัพย์ ไม่ต้องเสียค่าอากร
การเสียสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน 
                ผู้มีสิทธิในที่ดินอาจเสียสิทธิในที่ดิน ได้โดยที่ดินนั้นจะตกเป็นของรัฐในกรณีที่มีการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้พื้นที่ดินรกร้างว่างเปล่าาเกินเวลาดังนี้
                1. สำหรับที่ดินมีโฉนดที่ดินเกิน 10 ปี ติดต่อกัน
                2. สำหรับที่ดินที่มี น.ส.3 เกิน 5 ปี ติดต่อกัน
                โดยถือว่าผู้นั้นเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ได้ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6)
การขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 หรือ น.ส.3ก) 
ที่ดินที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ มีดังนี้
                1. เป็นที่ดินที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว
                2. ต้องไม่เป็นที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทะเลสาบ ที่ชายตลิ่ง
                3. ต้องไม่เป็นที่เขา ที่ภูเขา หรือที่สงวนหวงห้าม หรือที่ดินที่ทางราชการเห็นว่าควรสงวนไว้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติ
หลักฐานที่จะต้องนำไปแสดงประกอบการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มีดังนี้
                1. บัตรประจำตัว
                2. แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)
                3. ใบรับแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน
                4. ใบจองหรือใบเหยียบย่ำ
                5. ตราจองเป็นใบอนุญาต
                6. หลักฐานการเสียภาษีที่ดินหรือหลักฐานอื่นๆ ในกรณีที่ไม่ได้แจ้งการครอบครองและไม่อยู่ในท้องที่ประกาศเป็นเขตเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)
                วิธีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์
                1. ผู้ขอต้องยื่นคำขอต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ที่ดินตั้งอยู่แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งแนบหลักฐานตามที่กล่าวมาแล้ว
                2. เมื่อรับคำขอแล้ว นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรืออาจจะมอบให้เจ้าหน้าที่ผู้ใดไปแทนก็ได้ จะออกไปทำการรังวัดพิสูจน์สอบสวนว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นตามระเบียบและกฎหมาย ในการรังวัดเจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียงต้องไประวางชี้แนวเขตและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานด้วย
                3. เมื่อได้พิสูจน์การทำประโยชน์แล้วปรากฎว่าได้มีการครอบครองและทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพที่ดินในท้องถิ่น ตลอดจนสภาพกิจการที่ได้ทำประโยชน์แล้ว นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอจะประกาศคำขอรับรองการทำประโยชน์ไว้ 30 วัน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่ทำการกำนันในบริเวณที่ดินที่ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และสำนักงานเทศบาล (ถ้ามี) แห่งละ 1 ฉบับ
                4. ถ้ามีผู้คัดค้าน นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอจะทำการสอบสวนเปรียบเทียบ ถ้าตกลงกันได้ก็ดำเนินการไปตามข้อตกลงนั้น หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้มีคำสั่งว่าจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใด และให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งประการใดให้ดำเนินการไปตามนั้น ถ้าไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 60 วัน ก็ให้ดำเนินการไปตามที่มีคำสั่งไว้แล้ว
                5. ถ้าไม่มีผู้คัดค้าน ก็ให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ต่อไป
                6. ถ้าปรากฎว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยความผิดหลงหรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ถูกต้องด้วยประการใดก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งเพิกถอน น.ส.3 ได้
การขอออกโฉนดที่ดิน 
ที่ดินที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้ มีดังนี้
                1. เป็นที่ดินที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว
                2. ต้องไม่เป็นที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ที่ชายตลิ่ง
                3. ต้องไม่เป็นที่เขา ที่ภูเขา หรือที่สงวนหวงห้าม หรือที่ดินที่ทางราชการเห็นว่าควรสงวนไว้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติ
                4. ต้องเป็นที่ดินที่ได้มีระวางแผนที่เพื่อการออกโฉนดที่ดินแล้ว
หลักฐานที่จะต้องนำไปแสดงประกอบขอออกโฉนดที่ดิน มีดังนี้
                1. บัตรประจำตัว
                2. แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)
                3. ใบรับแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน
                4. ใบจองหรือใบเหยียบย่ำ
                5. ตราจองเป็นใบอนุญาต
                6. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือใบสำคัญแสดงการนำที่ดินขึ้นทะเบียน (แบบหมายเลข 3)
                7. หนังสือแสดงการทำประโยชน์ ในกรณีที่ได้รับการจัดที่ดินในนิคมสร้างตนเองหรือ สหกรณ์นิคม
                8. หลักฐานการเสียภาษีที่ดินหรือหลักฐานอื่น ในกรณีที่ไม่ได้แจ้งการครอบครองและไม่อยู่ในท้องที่ประกาศเป็นเขตเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล
วิธีการขอออกโฉนดที่ดิน
                1. ผู้ขอต้องยื่นคำขอพร้อมหลักฐานการได้มาซึ่งที่ดินตามที่กล่าวมาแล้วต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินสาขา แล้วแต่กรณี
                2. เมื่อได้รับคำขอแล้ว เจ้าหน้าที่จะออกไปทำการรังวัดและทำการไต่สวนเจ้าของที่ดินผู้ปกครองท้องที่ และเจ้าของที่ดิน
ข้างเคียง
                3. เมื่อรังวัดเสร็จเรียบร้อยและไม่มีข้อขัดข้อง เจ้าพนักงานที่ดินก็จะประกาศแจกโฉนดมีกำหนด 30 วัน โดยปิดไว้ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินสาขา ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนันและบริเวณที่ดินที่ขอออกโฉนดที่ดินแห่งละ 1 ฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลอีก 1 ฉบับ
                4. ถ้ามีผู้โต้แย้งคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินจะทำการสอบสวนเปรียบเทียบ ถ้าตกลงกันได้ก็จะดำเนินการไปตามความตกลง ถ้าไม่ตกลง เจ้าพนักงานที่ดินก็จะเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาสั่งการ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งแล้ว ถ้าฝ่ายใดไม่พอใจให้ฝ่ายนั้นไปฟ้องศาลภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง ถ้าไม่มีการฟ้องศาลก็ดำเนินการไปตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่ง
                5. ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านโต้แย้งก็ออกโฉนดที่ดินให้ต่อไป
การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม 
                การโอนกรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3 หรือ นส.3ก) ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
                ผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้คู่กรณีนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
1. การยื่นขอ
                1.1 สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน หรือมีใบไต่สวนหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นในที่ดินดังกล่าวนั้นรวมกับที่ดิน ให้ไปยื่นคำขอ ดังนี้
                    1.1.1 ที่ดินที่อยู่ในเขตที่มีสำนักงานที่ดินสาขาให้ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินสาขานั้น
                    1.1.2 ถ้าไม่มีสำนักงานที่ดินสาขาในเขตนั้นให้ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัด
                1.2 สำหรับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน 1 ให้ไปยื่นคำขอ ดังนี้
                    1.2.1 ที่ดินที่อยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอ ให้ยื่นต่อปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่นั้น
                    1.2.2 ที่ดินที่อยู่นอกท้องที่กิ่งอำเภอให้ยื่นต่อนายอำเภอท้องที่นั้น
                1.3 ที่ดินที่มีโฉนดที่ดินใบไต่สวน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3 หรือ นส.3ก) คู่กรณีอาจยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดิน (สำนักงานที่ดินกลาง) เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม 1 หรือ 2 แล้วแต่กรณีดำเนินการจดทะเบียนให้ก็ได้ เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมีการประกาศหรือต้องมีการรังวัด
การมอบอำนาจกระทำการเกี่ยวกับที่ดิน 
                ในการที่ผู้ขอจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมไม่สามารถไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินอำเภอด้วยตนเองได้ จะมอบหมายให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่เชื่อถือไว้วางใจได้จริงๆ ไปทำการแทนได้ โดยผู้นั้นจะต้องทำหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้ไปทำการแทนควรมอบบัตรประจำตัวของผู้มอบให้กับผู้รับมอบอำนาจนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เจ้าของที่ดินและผู้จะซื้อที่ดินจะต้องระมัดระวังหรือกระทำการให้รัดกุมรอบคอบมิฉะนั้นอาจเกิดการฉ้อโกงหรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ จึงขอให้ผู้มอบได้ปฏิบัติตามคำเตือนหลังใบมอบอำนาจโดยเคร่งครัดหนังสือมอบอำนาจควรใช้ตามแบบของกรมที่ดินซึ่งมีอยู่ 2 แบบสำหรับที่ดินมีโฉนดแล้วแบบหนึ่ง กับที่ดินที่ยังไม่มีโฉนดอีกแบบหนึ่ง หากจะใช้กระดาษอื่นควรเขียนข้อความอนุโลมตามแบบพิมพ์ของกรมที่ดินเพราะจะได้รายการที่ชัดเจนและถูกต้องขอแนะนำข้อปฏิบัติ ดังนี้
                1. ให้กรอกเครื่องหมายหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เช่น ตึก บ้าน เรือน โรง ให้ชัดเจน
                2. ให้ระบุเรื่องและอำนาจจัดการให้ชัดเจนว่า มอบอำนาจให้ทำอะไร เช่น ซื้อขาย จำนอง ฯลฯ ถ้ามีเงื่อนไขพิเศษ เพิ่มเติม ก็ให้ระบุไว้ด้วย
                3. อย่ากรอกข้อความให้ต่างลายมือและใช้น้ำหมึกต่างสีกัน ถ้าใช้เครื่องพิมพ์ดีดก็ต้องเป็นเครื่องเดียวกัน
                4. ถ้ามีขูดลบ ตกเติม แก้ไข หรือขีดฆ่า ให้ระบุขีดฆ่าตกเติมกี่คำ และผู้มอบอำนาจลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่ง
                5. อย่าลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจก่อนกรอกข้อความ เมื่อกรอกข้อความครบถ้วนแล้วให้อ่านก่อน เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้ลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจ คือ อย่าลงชื่อในกระดาษเปล่าๆ เป็นอันขาด
                6. มีพยานอย่างน้อย 1 คน ถ้าผู้มอบอำนาจพิมพ์ลายนิ้วมือต้องมีพยาน 2 คน พยานต้องเซ็นชื่อ จะพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้ ถ้าภรรยาเป็นผู้มอบอำนาจต้องให้สามีลงชื่อเป็นพยานและให้บันทึกความยินยอมเป็นหนังสือด้วย
                7. หนังสือมอบอำนาจทำในต่างประเทศ ควรให้สถานทูตหรือสถานกงสุลหรือโนตารี่ปัปลิค รับรองด้วย
                8. ผู้มอบอำนาจที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรสงสัยว่าผู้มอบจะยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์หรือไม่ ควรให้ผู้ปกครองท้องที่หรือผู้ที่เชื่อถือได้รับรองก่อน
                9. ควรพิจารณาถึงบุคคล ที่จะรับมอบอำนาจจากท่านควรจะเป็นบุคคลที่ท่านเชื่อถือหรือรู้จักชอบพอกันมานาน หรือเป็นญาติพี่น้องกัน อย่ามอบอำนาจให้กับผู้ที่ไม่รู้จักมักคุ้นกันมาก่อน
                บางเรื่องผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้รับมอบอำนาจจากทั้งสองฝ่าย คือ เป็นตัวแทนทั้งฝ่ายผู้โอนและผู้รับโอน ในกรณีเช่นนี้ผู้มอบอำนาจจะต้องระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่ายินยอมให้ผู้รับมอบเป็นผู้แทนอีกฝ่ายหนึ่งด้วย (มาตรา 805 แห่ง
ป.พ.พ.)                                 
                ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ควรไปทำธุรกิจต่างๆ เกี่ยวกับที่ดินด้วยตนเอง จะเป็นการปลอดภัยและสะดวกวกว่า แม้จะเสียเวลาไปบ้าง ก็ยังดีกว่าสูญเสียทรัพย์
การอายัดที่ดิน 
                มาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติว่า ผู้ใดมีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียน หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ มีความประสงค์จะขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ให้ทำได้
                เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเห็นสมควร ให้รับอายัดไว้ได้ไม่เกินกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ขออายัด โดยให้ผู้นั้นไปดำเนินการทางศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณี
                คำว่า การอายัดที่ดิน หมายถึง การหยุดนิ่งไม่ทำอะไรต่อไป หรือให้ระงับการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินไว้ชั่วระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินแปลงนั้น มีสิทธิตามกฎหมายที่จะบังคับเอากับที่ดินแปลงนั้นไปฟ้องร้องอายัดไว้ระยะหนึ่ง (ไม่เกิน 60 วัน) ได้ เป็นการยังยั้งการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเสียแต่ต้นมือหากปล่อยให้จดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนกันได้เรื่อยๆไป จะเกิดปัญหายุ่งยากโดยต่างฝ่ายต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายมากเกินไป และอาจเกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกผู้สุจริต หากมีการโอนกันต่อๆ ไป ในการสอบสวนพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่จะรับอายัดหรือปฏิเสธไม่รับ เป็นเรื่องที่จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เพราะการอายัดเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดิน ในอันที่จะขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดิน หลักการพิจารณามีอยู่ว่าสิทธิที่อ้างมาเพื่อขออายัดนั้น เกี่ยวกับที่จะบังคับเอาแต่ที่ดินนั้นโดยตรงหรือไม่
                การขออายัดที่ดินจะต้องกระทำก่อนมีการฟ้องร้องต่อศาล ถ้าฟ้องศาลแล้วรับอายัดไม่ได้เว้นแต่ศาลจะสั่งอายัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และการขออายัดจะกระทำได้แต่เฉพาะที่ดินเท่านั้น โดยผู้ขอต้องส่งหลักฐานเอกสารที่จะบังคับให้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่รวมถึงการขออายัดบ้านเรือน โรง และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ
การขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน หากโฉนดที่ดินสูญหาย เจ้าของที่ดินจะต้องออกใบแทนทันที
                คำว่าสูญหาย หมายถึง ตกหายหรือหาไม่พบ เมื่อพบว่าโฉนดที่ดินหายเจ้าของที่ดินจะต้องไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ณ ท้องที่ที่เกิดเหตุสูญหาย หรือที่ที่ดินตั้งอยู่ ให้พนักงานสอบสวนลงประจำวันไว้เป็นหลักฐาน โดยแจ้งหมายเลขโฉนดด้วย หากไม่ทราบหมายเลขโฉนดก็อาจขอตรวจสอบหมายเลขโฉนดจากบตรรายชื่อเจ้าของที่ดินที่สำนักงานที่ดินแล้วนำหลักฐานการแจ้งความ บัตรประจำตัว ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส และพยานบุคคลที่เชื่อถือได้ 2 คน (มีบัตรประจำตัวและสำเนาทะเบียนบ้านไปด้วย) ซึ่งรู้ถึงการที่โฉนดที่ดินสูญหายไปให้ถ้อยคำรับรองการให้ถ้อยคำรับรองของผู้ขอว่าเป็นความจริงต่อพนักงานที่ดิน โดยนำหลักฐานทั้งหมดดังกล่าวไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินต่อพนักงานที่ดินในเขตที่ที่ดินตั้งอยู่
                หากเจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนแล้วเชื่อว่าโฉนดที่สูญหายจริงก็จะประกาศขอออกใบแทน 30 วัน ปิดไว้ที่สำนักงานที่ดิน 1 ฉบับ ที่ทำการกำนัน 1 ฉบับ ที่บริเวณที่ดิน 1 ฉบับ ในเขตเทศบาลปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลอีก 1 ฉบับ หากไม่มีผู้คัดค้านก็จะออกใบแทนให้ไปหากมีผู้คัดค้านและปรากฏว่าโฉนดไม่สูญหายจริง เจ้าพนักงานที่ดินก็จะยกเลิกคำขอ
คำแนะนำเรื่องการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับที่ดิน 
                1. ควรเก็บรักษาโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3 หรือ นส.3ก) ไว้ในที่ปลอดภัย ถ้ามีแขกแปลกหน้าขอดูโฉนดที่ดินหรือ นส.3 โดยอ้างว่า มีคนต้องการจะซื้อให้ระมัดระวังเพราะผู้ทุจริตอาจนำฉบับปลอมมาเปลี่ยนได้
                2. อย่าให้ผู้อื่นยืมโฉนดที่ดิน หรือ นส.3 ไปไม่ว่ากรณีใดๆ
                3. ในกรณีโฉนดที่ดิน หรือ นส.3 สูญหายหรือถูกลักให้รับแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) โดยเร็วแล้วนำใบแจ้งความไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดินเพื่อขอให้ออกใบแทนใหม่
                4. อย่าเซ็นชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความเป็นอันขาด ก่อนเซ็นชื่อให้กรอกข้อความในใบมอบให้ครบถ้วนและจะมอบให้ไปทำนิติกรรมเรื่องใดก็ให้เขียนลงไปให้ชัดเจน เช่น จะขายก็ว่าขาย จะให้ก็ว่าให้
                5. ควรพิจารณาถึงบุคคลที่จะรับมอบอำนาจจากท่าน ควรเป็นบุคคลที่ท่านเชื่อถือหรือรู้จักชอบพอกันมานาน หรือเป็นญาติพี่น้องกัน อย่ามอบอำนาจให้กับผู้ที่ไม่รู้จักมักคุ้นกันมาก่อน
                ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ควรไปทำธุรกิจต่างๆ เกี่ยวกับที่ดินด้วยตนเองจะเป็นการปลอดภัยและสะดวกกว่า แม้จะเสียเวลาไปบ้างก็ยังดีกว่าสูญเสียทรัพย์
                6. ถ้ามีเวลาว่างควรนำโฉนดที่ดิน หรือ นส.3 ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินว่าที่ดินของท่านยังอยู่ปกติและมีหลักฐานถูกต้องตรงกับฉบับที่สำนักงานที่ดินหรือไม่ เพียงใด
                7. ก่อนจะรับซื้อ รับซื้อฝาก หรือรับจำนองที่ดินควรไปตรวจสอบดูที่ดินให้แน่นอนถูกต้งอตรงกับหลักฐานตามโฉนดที่ดิน หรือ นส.3 ถ้าสงสัยให้ไปขอตรวจสอบหลักฐานที่ดินก่อนหรือขอสอบเขตว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกันหรือไม่
                8. ควรติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง
                9. อย่าทำสัญญาให้กู้ยืมเงินกันเอง โดยรับมอบโฉนดที่ดิน หรือ นส.3 ไว้เป็นประกันเป็นอันขาด เพราะอาจเป็นฉบับของปลอม ทางที่ดีควรไปจดทะเบียนรับจำนอง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะปลอดภัย
                10. การซื้อขายที่ดินมีโฉนด ผู้ซื้อขายชอบที่จะไปจดทะเบียนโอนที่สำนักงานที่ดินและชำระเงินทั้งหมดที่สำนักงานที่ดิน ต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินขณะจดทะเบียนโอนที่ดิน ซึ่งอาจชำระเป็นเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คก็ได้ เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น หากชำระก่อนการจดทะเบียนแล้วผู้ขายอาจบิดพลิ้วไม่โอนที่ดินให้หรือนำไปโอนขายให้บุคคลภายนอก
                ก่อนที่เจ้าพนักงานที่ดินจะจดทะเบียน จะสอบถามผู้ขายว่าได้ชำระเงินแล้วหรือยัง ผู้ขายก็อาจเรียกให้ผู้ซื้อชำระเงินต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน หากผู้ขายแจ้งว่ายังไม่ได้รับชำระเงินเจ้าพนักงานที่ดินจะไม่จดทะเบียน ซื้อขายให้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมักเกิดจากผู้ขายยังไม่ได้รับชำระเงินค่าที่ดินครบถ้วนโดยจดทะเบียนโอนขายให้ผู้ซื้อไปก่อน ภายหลังผู้ซื้อบิดพลิ้ว ไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือ ผู้ขายจึงไปฟ้องร้องเรียกเงินค่าที่ดินส่วนที่ยังไม่ได้รับจากผู้ซื้อ แต่ในสัญญาซื้อขายที่ดินระบุว่า “ผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินรายนี้เสร็จแล้ว” ศาลได้พิจารณาแล้วว่าข้อความดังกล่าวในสัญญาแสดงว่าผู้ขายยอมรับว่าผู้ซื้อได้ชำระเงินค่าที่ดินทั้งหมดให้ผู้ขายแล้วในวันทำสัญญา การที่ผู้ขายนำพยานบุคคลมาสืบว่ายังไม่ได้รับชำระเงินครบถ้วนเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาต้องห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังแม้ผู้ขายจะนำเจ้าพนักงานที่ดินมาเป็นพยาน หากในสัญญาระบุว่าผู้ขายได้รับชำระเงินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินก็ต้องเบิกความไปตามสัญญาว่า ผู้ขายได้รับชำระเงินแล้วแม้ว่าความจริงเจ้าพนักงานที่ดินจะรู้ว่ายังชำระเงินไม่หมดก็ตาม มิฉะนั้นเจ้าพนักงานที่ดินก็จะมีความผิด เมื่อทราบว่ายังไม่ชำระเงิน เหตุใดจึงจดทะเบียนโอนให้และยังระบุในสัญญาว่าผู้ขายได้รับชำระเงินแล้วเท่ากับ
ผู้ขายขายที่ดินแต่ไม่ได้เงิน หรือได้ไม่ครบถ้วน
                ทางแก้ไข หากผู้ขายยังไม่ได้รับชำระเงินบางส่วน ควรแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกไว้ในสัญญา และขอจดทะเบียนบุริมสิทธิ คือสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนผู้อื่นในหนี้ส่วนนั้น เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้อื่นบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินแปลงนี้ก่อนผู้ขาย
--------------------------------
                การฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปี เป็นระยะเวลาสิ้นสุด มิใช่อายุความ  ดังนั้นแม้จำเลยไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลก็หยิบยกขึ้นพิจารณายกฟ้องโจทก์ก็ได้

                3) โดยไม่ยึดถือทรัพย์สินนั้นต่อไป (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377) การที่เจ้าของที่ดินมือเปล่าเลิกยึดถือที่ดินเป็นการแสดงเจตนาละทิ้ง เลิกครอบครอง การซื้อขายที่ดินมือเปล่า โดยมิได้ทำสัญญาเป็นหนังสือกันนั้นเมื่อผู้ซื้อได้ชำระราคาและ
ผู้ขายสละสิทธิให้ผู้ซื้อเข้าปกครองอย่างเจ้าของโดยผู้ขายเลิกยึดถือที่ดินนั้นต่อไป ที่ดินย่อมเป็นสิทธิของผู้ซื้อ
                3. ที่ดินมีโฉนด พนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียน คือ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินสาขา ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่