วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การรอลงอาญา


หลักกฎหมาย ซึ่งหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง “การรอการลงโทษ” หรือ “การรอลงอาญา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มีหลักดังนี้ คือ
  1. ผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้น ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
  2. ไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ (คือความผิดที่มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน)
  3. ศาลจะวินิจฉัยโดยคำนึงถึง อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปรานี
  4. เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาว่า ผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ได้
          ผมอยากให้สังเกตในข้อ 2. ให้ดีแล้วจะพบว่า การรอการลงอาญานั้น ผู้กระทำความผิดต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนคำ ว่า “โทษจำคุก” ใน ที่นี้ หมายถึง การถูกจำคุกจริง ๆ ถูกคุมขังในเรือนจำจริง ๆ ฉะนั้นคำว่าได้รับโทษจำคุกในที่นี้ จึงไม่รวมถึงการรอลงอาญา แม้จะเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกก็ตาม ทั้งนี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า การรอลงอาญาไม่ถือว่าเป็นการได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงมีคำสั่งให้รอการลงโทษไว้อีกได้ (ฎ.1983/2497)
          ดังนั้น ผู้กระทำความผิดอาญาที่ถูกตัดสินให้จำคุกแต่ศาลสั่งรอลงอาญาไว้ เมื่อกระทำความผิดอีก ศาลอาจจะสั่งให้รอลงอาญาเอาไว้อีกก็ได้ อย่างไร ก็ตาม ศาลจะพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และลักษณะของบุคคลนั้น ๆ ว่าสมควรจะรอการลงโทษไว้หรือไม่ เพราะลักษณะนิสัยของบางคนชอบกระทำความผิดอยู่เป็นประจำ หรือที่เรียกกันตามภาษากฎหมายว่า “มีเถียรจิตเป็นโจร” อย่างนี้ศาลอาจจะไม่สั่งให้รอลงอาญาในคดีใหม่ และอาจจะยกเลิกการรอลงอาญาในคดีเก่า แล้วนำโทษในคดีเก่ามารวมกับโทษในคดีใหม่ก็ได้
          ท้ายสุดนี้ ผมข้อฝากแง่คิดเอาไว้ว่า คนเราเมื่อทำผิดแล้วก็ควรที่จะปรับปรุงตัว โดยนำความผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียน เรียกว่า “ผิดเป็นครู” แต่ ถ้าทำผิดแล้วยังไม่สำนึก และยังคงทำผิดอีกหลายครั้ง ก็เป็นการสมควรแล้วที่จะถูกลงโทษให้เข็ดหลาบ เพื่อจะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะกระทำผิดต่อไปภายภาคหน้า