วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

บทเรียนจากMcDonald

บทเรียนจาก McDonald's..ธุรกิจอาหารที่ให้คุณค่าทางธุรกิจมากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ

ธุรกิจ ที่เรียกว่า Junk Food อันดับหนึ่งของโลกอย่าง McDonald's นั้น ได้ให้บทเรียนทางธุรกิจไว้หลายประการ ขอนำบางส่วนมาพูดกันตรงนี้นะครับ

ข้อแรกคือ "ระบบ" ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

พี่น้องแมคโดนัลด์นำระบบสายพานการผลิตแบบอุตสาหกรรม ที่นายเฮนรี่ ฟอร์ด ใช้ในโรงงานผลิตรถยนต์ของเขา มาใช้ในธุรกิจอาหาร

ตอนที่เขาสองคนเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารครั้งแรกนั้น กระบวนการและวิธีการทำงานในร้านของเขาก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากร้านคู่แข่งอื่นๆ

เขา เปิดร้านอาหารประเภทไดรฟ์อิน (Drive-In) โดยเมนูหลักคือแฮมเบอร์เกอร์ (แรกสุดเลยคือฮอตดอก) ก็ประสบความสำเร็จมาก แต่ด้วยภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจ มีการแย่งตัวพ่อครัว และเด็กเสิร์ฟสาวๆ วุ่นวายเต็มไปหมด

ด้วยความเบื่อหน่ายจากปัญหา เขาจึงตัดสินใจปิดร้านชั่วคราว ถ้าเป็นคนปกติทั่วไปก็คงปิดปรับปรุงรูปแบบของร้าน

แต่พี่น้องคู่นี้ปรับแก้ที่ "กระบวนการหลัก" ของการทำงานเลยทีเดียว

ระบบใหม่นี้ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความเร็ว ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มปริมาณการผลิตให้เยอะขึ้นไปอีก

เขา ลดจำนวนเมนูอาหารลงเหลือเพียงไม่กี่อย่าง เปลี่ยนส้อม - มีด - จาน ที่เคยเป็นเหล็กหรือกระเบื้องให้อยู่ในรูปแบบใช้แล้วทิ้ง (หรือไม่ต้องใช้เลย)

ที่สำคัญคือเปลี่ยนกระบวนการปรุงอาหาร จากเดิมที่พ่อครัวคนหนึ่งจะทำอาหารตั้งแต่ต้นจนจบ มาเป็นการ "แบ่งหน้าที่กันทำ" (Division of Labour) เฉพาะเจาะจงลงไปเลย

...เช่น มีคนหนึ่งรับผิดชอบการทอดชิ้นเนื้อแฮมเบอร์เกอร์ไปเลย อีกคนหนึ่งก็เอาเนื้อร้อนๆ ที่สุกแล้วมาใส่ในขนมปัง เติมผักและซอส ออกมาเป็นแฮมเบอร์เกอร์สำเร็จ อีกคนก็เตรียมเครื่องดื่มมิลเชค์เชค อีกคนก็รับออร์เดอร์อยู่หน้าเคาน์เตอร์

พี่น้องแมคโดนัลด์เรียกรูปแบบการให้บริการแบบนี้ว่า Speedee Service System

ถือเป็นมิติใหม่ของการให้บริการอาหาร และเป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด

บทเรียนที่สองเกิดขึ้นเมื่อนาย Ray Kroc พบกับพี่น้องแมคโดนัลด์

นาย Ray Kroc ในขณะนั้นเป็นเซลส์แมนขายเครื่องทำมิลค์เชค โดยมีร้านแมคโดนัลด์เป็นหนึ่งในลูกค้า เขาสังเกตเห็นการเติบโตอย่างผิดสังเกตจนเดินทางไปดูให้เห็นกับตา เมื่อเขาเห็นของจริง เขาก็รู้สึกถึงโอกาสอันมหาศาล และจินตนาการไปถึงภาพร้านแมคที่กระจายอยู่ทั่วอเมริกา

"ร้าน อาหารที่ให้บริการแฮมเบอร์เกอร์รสชาติเยี่ยม ราคาถูก ในเวลาอันรวดเร็ว และมีคุณภาพอันเป็นมาตรฐาน นี่ล่ะคือสิ่งที่คนอเมริกันต้องการ" ใครล่ะจะปฏิเสธเขาคงนึกในใจเช่นนั้น

ครอคเจรจากับพี่น้อง แมคโดนัลด์ แลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่างเพื่อแลกกับการได้มาซึ่งชื่อของร้าน และระบบการทำงานอันเป็นเอกลักษณ์ของแมคเพื่อนำไปเปิดร้านแมคของเขาเอง ซึ่งพี่น้องแมคโดนัลด์ก็โอเค

นั่นเป็นจุดเริ่มของรูปแบบธุรกิจที่เรียกว่า "แฟรนไชส์" (Franchise)

และ ในกาลต่อมา ตัวครอคเองได้ซื้อกิจการทั้งหมดของแมคต่อจากพี่น้องผู้ก่อตั้ง และใช้วิธีทำ "แฟรนไชส์" เป็นจักรกลหลักในการขยายสาขาแมคโดนัลด์ออกไปอย่างรวดเร็ว

เป็นต้นแบบของการขาย "แฟรนไชส์" ให้แก่ธุรกิจอื่นๆ ได้ศึกษาเป็นตัวอย่าง

นอกจากนั้น นายครอคยังได้สร้างรูปแบบพิเศษอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือเวลาจะขายแฟรนไชส์ให้ใคร แมคโดนัลด์จะเป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้น แล้วเก็บค่าเช่าต่อจากผู้ซื้อแฟรนไชส์อีกต่อหนึ่ง

ยิ่งร้านนั้นเติบโตเท่าใด ค่าเช่าที่เก็บก็จะแปรผันตามไปด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่า...แมคโดนัลด์นั้นอยู่ในธุรกิจ "อสังหาริมทรัพย์" ก็ได้

เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น แมคโดนัลด์ก็ได้สร้าง "สัญลักษณ์" มากมายอันเป็นเอกลักษณ์ของร้าน

ตั้งแต่ ตัวเอ็มโค้งทอง โลโก้ของแบรนด์แมค ตัวตลกประจำร้านอย่าง โรนัลด์ แมคโดนัลด์ (ซึ่งพบว่าเด็กอเมริกันเกินร้อยละ 96 จำเขาได้), บิ๊กแมค แฮมเบอร์เกอร์สองชั้น, แฮปปี้มีล ชุดอาหารสำหรับเด็ก ที่ภายในบรรจุของเล่นล่อใจ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ดึงลูกค้าเด็กๆ เข้าหาแมคได้มหาศาล, หรืออย่างเฟรนชฟรายด์ ที่แมคขายเยอะจนกระทั่งต้องปฏิวัติรูปแบบการเตรียมวัตถุดิบใหม่ในแบบแช่แข็ง และหั่นสำเร็จ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้แมคจะขึ้นชื่อเรื่องระบบแค่ไหนก็จะเห็นได้ว่า "ปัจเจกบุคคล" ยังมีอิทธิพลต่อความเป็นความตายของแมคอยู่มากโข

ดูตัวอย่างซีอีโอแมคปะไร ถึงกับต้องดึงนายจิม แคนตาลูโป เข้ามาอีกครั้งหลังปลดเกษียณ เพื่อกอบกู้บริษัท

หรือนายชาร์ลี เบลส์ ผู้บริหารหนุ่มผู้ไปดูแลตรงไหน ตรงนั้นก็เติบโตไปเสียหมด (แต่ก็ต้องมาจากไปก่อนวัยอันควร)

สุดท้าย ผมคิดว่าแมคโดนัลด์กำลังจะสอนให้โลกเห็นถึงการเปลี่ยน S-Curve
หรือ การฝืนวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ จากธุรกิจฟาสฟู้ด (ในความหมายดั้งเดิมคืออาหารไร้คุณค่า) ที่อยู่ในขาลง ก้าวเข้าสู่ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ในความหมายใหม่ (ที่ยังไม่แน่ใจว่าคืออะไรแน่) ที่ต้องคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น

ดูกันครับว่าแมคจะทำสำเร็จหรือไม่อย่างไร

ไม่กินแมคไม่เป็นไร...แต่อย่าปิดกั้นความรู้ที่ได้จากแมค

เพราะแมคโดนัลด์ให้คุณค่าทางธุรกิจ มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการหลายเท่านัก





 


ไม่มีความคิดเห็น: