วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

มื่อร่างกายส่งสัญญาณ...โรคภั


เมื่อร่างกายส่งสัญญาณ...โรคภัย


ทุก วันนี้เราต่างตั้งหน้าตั้งตาทำงานกันจนไม่มีเวลาดูแล และสังเกตตัวเองกันเลย ว่า สภาพร่างกายเราเป็นอย่างไร ทั้งที่บางครั้งอาการที่แสดงออกมาเล็กน้อยแล้วเราผ่านเลยไป อาจเป็นจุดกำเนิดโรคภัยร้ายแรงได้เหมือนกัน

 คุณเช่น ถ้ามีอาการใจหวิว วิงเวียนหน้ามืด ใจสั่น เจ็บหน้าอก จุกแน่นเวลารับประทานอาหารอิ่ม หรือช่วงหลังอาหารเย็น มีอาการเหนื่อยง่าย และเจ็บแน่นบริเวณหัวใจ แสดงว่าหัวใจขอำลังมีปัญหา และควรรีบตรวจเช็กเร็วพลัน เพราะมีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ถ้าจู่ ๆ น้ำหนักของคุณเพิ่ม หรือลดจากเดิมไปมาก หิวน้ำบ่อย กินจุ ปัสสาวะบ่อยและครั้งละมาก ๆ มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน มึนงง (เนื่องจากมีน้ำตาลและไขมันไตรกลีเซอไรด์คั่งค้างอยู่ในเลือดสูง) ให้สงสัยว่า คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวาน

ถ้าเริ่มเบื่ออาหาร และรู้สึกไม่สบายคล้ายจะเป็นไข้ ไอมีเสมหะ หายใจลำบาก และแน่นหน้าอก บางครั้งอาจมีอาการเจ็บด้านข้างปอดร่วมด้วย คุณอาจมีปัญหาเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในทรวงอก

ถ้าปวดศีรษะบ่อย ๆ และอาการปวดค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น แล้วเปลี่ยนเป็นปวดคงที่ทั่วทั้งศีรษะ และยิ่งปวดหนักมากขึ้นเมื่อก้มศีรษะไปข้างหน้า ร่วมกับมีไข้ อาเจียน ไวต่อแสง และคอแข็ง ควรรีบไปพบแพทย์ด่วน เพราะนี่เป็นอาการของคนที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ถ้ามีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องร่วง และปวดท้อง อยู่ประมาณสัปดาห์แล้วมีอาการดีซ่าน ที่ทำให้ผิวหนังและตาขาวมีสีเหลือง นี่เป็นสัญญาณของโรคตับอักเสบ

...ลองหยุดพัก แล้วสังเกตตัวเองดูบ้างนะคะ ว่าตอนนี้ร่างกายกำลังส่งสัญญาณใดแก่เราบ้าง














หลักการใช้ยาปฏิชีวนะ

 
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics ) คือ ยาฆ่าหรือชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่ปัจจุบัน ยาปฏิชีวนะหลายชนิดสามารถฆ่าเชื้ออื่นๆที่ไม่ใช่แบคทีเรียได้ เช่น เชื้อราบางชนิด ดังนั้นบางท่านจึงนิยามปฏิชีวนะว่า เป็นยาฆ่าหรือชะลอการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งคือเชื้อโรค (Antimicrobial compound) แต่โดยทั่วไปในความหมายที่เข้าใจกัน ยาปฏิชีวนะ คือ ยาที่มีสารประกอบที่มีคุณสมบัติในการฆ่า หรือชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งในที่นี้ ขอใช้ยาปฏิชีวนะในความหมายทั่วไป คือ ยาฆ่าหรือชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ดังนั้น โรคที่เกิดจากเชื้อโรคอื่นๆที่ไม่ใช่แบคทีเรีย เช่น ไวรัส เชื้อรา และเชื้อหนอนพยาธิ จึงรักษาไม่หายด้วยยาปฏิชีวนะ





ปัจจัยต่อประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะ:
แบคทีเรีย ที่ก่อโรคมีหลากหลายเป็นร้อยๆสายพันธุ์ ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้ตรงกับชนิดของเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้น ยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ


- ขนาดของยา (Dose)
- ระยะเวลาในการให้ยา
- และประสิทธิภาพในการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย เช่น วิธีกินยา ฉีดยา กินก่อนอาหาร หรือกินหลังอาหาร



ทำไมต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง?
ต้อง ใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ เพราะแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัว และพัฒนาตัวเองให้มีชีวิตรอดได้สูง และมีหลากหลายร้อยๆชนิด ดังนั้นถ้ากินยาไม่ถูกต้อง แบคทีเรียบางส่วนจะไม่ตาย ดังนั้นโรคจึงอาจไม่หาย หรือถึงแม้ดูว่า อาการดีขึ้น แต่อาจกลายเป็นโรคเรื้อรังและยังคงสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้โดยเราและ เขาไม่รู้ตัว
แบคทีเรียที่รอดตายเหล่านี้ มักพัฒนาตนเองเป็นเชื้อดื้อยา กล่าวคือ เมื่อมีการเจ็บป่วยคราวหน้าจากเชื้อดื้อยา หรือเชื้อดื้อยาแพร่สู่ผู้อื่น ยาปฏิชีวนะตัวเดิม หรือในกลุ่มยาเดิมจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียไม่ได้ ต้องใช้ยาตัวใหม่ หรือต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายๆตัวร่วมกัน หรือบ่อยครั้งไม่มีตัวยารักษา ผู้ป่วยจึงต้องเสียชีวิต และยังเพิ่มค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาให้สูงขึ้นมาก บ่อยครั้งต้องเป็นการรักษาแบบเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล และโอกาสเสียชีวิตก็มักจะสูงขึ้น เนื่องจากยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อดื้อยาไม่ได้นั่นเอง
อีกประการ ในร่างกายเรามีแบคทีเรียอยู่เป็นร้อยสายพันธุ์ย่อยเช่นกัน เรียกว่าเป็นแบคทีเรียประจำถิ่น หรือแบคทีเรียที่ดี เป็นตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกายเรา แต่เมื่อเรากินยาปฏิชีวนะบ่อยๆพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น ยาจะไปฆ่าแบคทีเรียเหล่านี้ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเสียไป และแบคทีเรียไม่ดีที่เคยถูกควบคุมสมดุลด้วยแบคทีเรียประจำถิ่นอาจรุนแรงขึ้น และโดยเฉพาะเชื้อราที่มีเป็นปกติในเยื่อเมือก และที่ผิวหนังจะแข็งแรงขึ้น จนก่อการติดเชื้อกับเราได้ เช่น เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ หรือท้องเสีย เป็นต้น
นอกจากนั้น ยาปฏิชีวนะทุกชนิดมีผลข้างเคียงเสมอ มากหรือน้อย ขึ้นกับชนิด ขนาดและวิธีกินยา และยังขึ้นกับความไวของแต่ละคนต่อยาด้วย ผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะที่พบบ่อย คือ ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย เบื่ออาหาร และบางครั้งอาจเกิดการแพ้ยา เช่น การขึ้นผื่นคัน หรือถ้ารุนแรง (มักเกิดกับยาฉีด) คืออาการช็อก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้



ควรใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไร?
การใช้ยาปฏิชีวนะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดค่าใช้จ่าย และป้องกันเชื้อดื้อยา คือ
ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ควรเป็นการแนะนำจากแพทย์เท่านั้น เพราะเป็นผู้ตรวจรักษาเรา จึงสามารถสั่งการใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างถูกต้อง


มีความรู้ว่า ยาปฏิชีวนะรักษาได้เฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสได้ ดังนั้น โรคจากติดเชื้อไวรัสที่พบบ่อย คือ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน รู้ได้ คือ อาการจะรุนแรงมากขึ้นหลังการดูแลตนเองด้วย การพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และกินยาลดไข้ภายใน 3-4 วันในคนที่สุขภาพแข็งแรง แต่ภายใน 1-2 วัน ในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือที่เรียกว่า กลุ่มเสี่ยง (เด็กเล็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยได้ยาเคมีบำบัด) ดังนั้นในระยะเวลาดังกล่าว ภายหลังจากการดูแลตนเองในเบื้องต้น เมื่ออาการต่างๆเลวลง จึงควรพบแพทย์ให้แพทย์เป็นผู้รักษา และสั่งยา


เมื่อแพทย์สั่งยาปฏิชีวนะ


◦ควรรู้จักชื่อยา (ชื่อยาเขียนอยู่บนซองยา)


◦กินยาให้ครบถ้วน ถูกต้องตามฉลากยา กินยาให้หมดตามแพทย์สั่ง ไม่หยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น


◦ควรแจ้งแพทย์ถึงยาตัวอื่นๆที่กำลังกินอยู่ เพื่อป้องกันตัวยาต่างๆที่อาจเสริม หรือ ต้านฤทธิ์กันได้


◦ควรสอบถามแพทย์ถึงข้อควรระวังในเรื่อง อาหาร เครื่องดื่มกับยาปฏิชีวนะ เพราะอาจลดการดูดซึมยาปฏิชีวนะได้


◦ควรสอบถามแพทย์ถึงผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะ


◦เมื่อกินยาปฏิชีวนะครบแล้ว อาการยังอยู่ ต้องกลับไปพบแพทย์


◦ระหว่างกินยาถ้าอาการเลวลง หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆแทรกซ้อน ต้องกลับไปพบแพทย์ หรือพบแพทย์ก่อนนัดเช่นกัน


ไม่กินยาปฏิชีวนะของผู้อื่น หรือที่มีเหลือเก็บไว้ เพราะมักเป็นเชื้อแบคทีเรียคนละชนิดกัน


การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ ก็เป็นการป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้โดย


◦รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ดูคลิก


◦ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ


◦ออกกำลังกายสม่ำเสมอ


◦กิน อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในแต่ละวัน ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้เกิดโรคอ้วน จำกัดไขมัน แป้ง น้ำตาล เค็ม และเพิ่มผัก ผลไม้


◦รู้จักใช้หน้ากากอนามัย และ


◦รู้จักการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิด และตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ 





สุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ
1.ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
2.รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง
3.ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย
4.กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด
5.งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ
6.สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
7.ป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท
8.ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี
9.ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ

10.มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสังคม