นิยามของเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงของเรา ทรงพระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทยนั้น ประกอบด้วย 3 หลักกับ 2 เงื่อนไข
หลักที่ 1 คือ หลักของการเดินสายกลาง ไม่สุดโต่ง
หลักที่ 2 คือ หลักของการใช้เหตุผลในการตัดสินใจ แทนการใช้อารมณ์ในตัดสินใจอย่างปัจจุบันทันด่วน
หลักที่ 3 คือ หลักของการมีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะจากปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ที่อยู่นอกเหนืออิทธิพลของเรา
กล่าวคือ อย่างเสี่ยงเกินไป อย่าเล็งผลเลิศเกินไป อย่าโลภเกินไป เพราะว่าถ้าทำอะไรไปโดยหวังว่าทุกอย่างมันจะดีหมด บางทีเหตุการณ์ข้างนอก ซึ่งอยู่เหนืออิทธิพลของเรา อาจจะทำให้ผิดพลาดได้ และผลกระทบที่เกิดกับเรา อาจจะทำให้ถึงกับล้มไปก็ได้ ฉะนั้นทำอะไรไปขอให้นึกถึงว่าเหตุการณ์บางอย่างอาจจะไม่ดี ถึงแม้มีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น เราก็ยังพออยู่รอดได้
หลักการข้างต้นเป็น 3 หลักการ ที่ต้องใช้ควบคู่พร้อมๆ กันไปทั้ง 3 หลัก
ส่วน 2 เงื่อนไข ได้แก่
เงื่อนไขที่ 1 คือ คุณธรรม ผู้ที่ปฏิบัติหรือผู้ที่ตัดสินใจนั้น ควรจะตัดสินใจด้วยคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์ ความเพียร ความอดทน กล่าวคืออย่าไปนั่งงอมือ งอเท้า แล้วหวังว่าทุกอย่างมันจะเกิดขึ้นมาอย่างดี หลายๆ อย่างนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นมาจากการทำอะไรง่าย ๆ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเพียร แต่มีความซื่อสัตย์ เรียกว่าไม่ทำอะไรแบบอยากได้ผลเร็ว ๆ เขาเรียกว่า ตัดมุม หรือ Cut corner ขอให้ทำอะไรด้วยความซื่อสัตย์ คนเขาเห็นความซื่อสัตย์ ตัวเองก็จะได้รับผลจากการที่มีคนเชื่อถือ
เงื่อนไขที่ 2 คือ ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง ไม่ใช่เป็นความรู้จากตำราเฉย ๆ แต่เป็นความรู้ที่ได้มาจากการมีประสบการณ์ และอาศัยความรอบคอบ ระมัดระวัง พร้อม ๆ กันไปด้วย
สรุปเป็นคำจำกัดความสั้นๆ ได้ว่า
"เศรษฐกิจพอเพียง คือ...
การเดินทางสายกลาง อย่างพอประมาณ
อย่างมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี
โดยอาศัย ความรู้คู่คุณธรรม"
Reference http://www.sufficiencyeconomy.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น